วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

วันปีใหม่..คืออะไร

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชตบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ
ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่
ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก
การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์
ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป
เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ

1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น
กิจกรรมใน วันขึ้นปีใหม่
วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตรและอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก อวยพรซึ่งกันและกัน หรืออาจจะส่งการ์ดบัตรอวยพร ของขัวญไหว้ผู้ใหญ่เพื่อรับพร และสรงน้ำพระพุทธรูป ประดับธงชาติ และจะเตรียมทำความสะอาดบ้าน และที่พักอาศัย
เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชคำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดีข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรีโปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัยให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัยให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดีตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
เกี่ยวกับ เพลงพรปีใหม่
เพลงพระราชนิพนธ์ พรปีใหม่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495


ประวัติวันคริสต์มาส


คุณครูทราบหรือไม่ว่า..วันคริสต์มาส..หมายถึงอะไร
ถ้าไม่รู้ ลองอ่านดู

คำว่า คริสต์มาส ภาษาอังกฤษเขียนว่า Christmas ดังนั้นอย่าลืม "ต์" อยู่ที่คำว่า คริสต์ (Christ) ไม่ใช่คำว่า "มาส" (Mas) Christmas มาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า โดยพบคำนี้ครั้งแรกในเอกสารโบราณในปี ค.ศ.1038 ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซ่าร์ ออกัสตัส แห่งโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็ขานรับนโยบาย อย่างไรก็ตามในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร ด้านนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพ โดยตั้งแต่ปีค.ศ.274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปีค.ศ.64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปีค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย สำหรับองค์ประกอบในงานฉลองวันคริสต์มาสมีความเป็นมาเช่นกัน เริ่มที่คำอวยพรว่า Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส ต่อมาคือ "เพลง" ที่ใช้เฉลิมฉลองทั้งจังหวะช้าและจังหวะสนุกสนาน ส่วนใหญ่แต่งในยุคพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (ค.ศ.1840-1900) ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลกโดยแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย สำหรับ "ซานตาคลอส" เซนต์นิโคลัสแห่งเมืองมีรา สมัยศตวรรษที่ 4 ได้รับการขนานนามให้เป็นซานตาคลอสคนแรก เพราะวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่งแล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี ปิดท้ายที่ต้นคริสต์มาส หรือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยดวงไฟหลากสีสัน ต้องย้อนไปศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมามาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก คริสต์มาส คือการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้า เราเฉลิมฉลองกันในวันที่ 25 ธันวาคม คำว่า คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Christmas ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการร่วมพิธีมิสซา เป็นประเพณี สำคัญที่สุด ที่ชาวคริสต์ถือปฎิบัติกันในวันคริสต์มาส คำว่า Christes Maesse พบครั้งแรกในเอกสาร โบราณ เป็นภาษาอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1038 และคำนี้ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas คำทักทายที่เราได้ฟังบ่อย ๆ ในเทศกาลนี้คือ Merry Christmas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพร คนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส
ต้นคริสต์มาส
ในสมัยโบราณ "ต้นคริสต์มาส" หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบ ผลไม้มากิน และทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า (ปฐก.3:1-6) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครที่ หน้าวัด ถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลาง เพื่อประดับฉาก แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้เป็นต้นสน เนื่องจากเป็นต้นไม้ ที่หาง่ายที่สุด ในประเทศ เหล่านั้น การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้ มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดง เนื่องจากการแสดงนั้น กลายเป็นการเล่นเหมือนลิเก ล้อชาวบ้าน ผู้ปกครองบ้านเมือง และศาสนา ซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดาย ที่ไม่มีโอกาส ดูละครสนุกๆ แบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน หลังจากนั้น ก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล ขนมและของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ ทุกวันนี้ .....นอกจากนั้น ชาวเยอรมันยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งคือ มีการจุดเทียนหลายเล่มเป็นรูปปิรามิด ไว้ตลอดคืนคริสต์มาส โดยมีดาวของดาวิดที่ยอดปิรามิด ซึ่งประเพณีที่จะแขวนของขวัญและขนม ก็ได้รวมกับประเพณีของชาวเยอรมันนี้ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเอาเทียนมาไว้ที่ต้นไม้ เป็นรูปทรงปิรามิด นี่เป็นที่มาของประเพณีปัจจุบัน ที่มีการแขวนของขวัญ และไฟกระพริบไว้ที่ต้นคริสต์มาส และมีดาวของดาวิดไว้ที่สุดยอด ประเพณีนี้ เป็นที่นิยมชมชอบของชาวตะวันตกอยู่มาก แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาส มีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ ก็ยังนิยมทำกันอยู่ เพราะเห็นว่า มีความหมายถึงพระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก.2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งหมายถึง นิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า และนอกจากนั้นยังหมายถึง ความสว่างของพระองค์ เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด ทั้งยังหมายถึง ความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้นั้น เป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น
ซานตาครอส
ซานตาคลอส เป็นจุดเด่นหรือสัญลักษณ์ ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุด ในเทศกาลคริสต์มาส แต่แท้ที่จริงแล้ว ซานตาคลอส แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย ชื่อซานตาคลอส มาจากชื่อนักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญองค์นี้ เป็นสังฆราชของไมรา (อยู่ในประเทศตุรกี ปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่ง อพยพไปอยู่ในสหรัฐ ก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือ ฉลองนักบุญนิโคลาส ในวันที่ 6 ธันวาคม ซึ่งหมายถึง นักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ ที่อพยพมา ก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้าง เพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้ จึงเริ่มเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายไปในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลง บางอย่างคือ ชื่อนักบุญนิโคลาส ก็เปลี่ยนเป็นซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราช ซึ่งเป็นนักบุญ องค์นั้น ก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วน ใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นพาหนะ มีกวาง เรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟ ของบ้าน เพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้น อันที่จริง ซานตาคลอสเป็นรูปแบบที่น่ารัก เหมาะสำหรับเป็นนิยายให้เด็กๆ เชื่อ แต่อาจจะทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจ ให้ความสำคัญในตัวนิยายนี้ แทนการบังเกิดของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเทศกาลคริสต์มาสนี้
อื่นๆ
การให้ของขวัญในวันคริสต์มาส เป็นธรรมเนียมนี้ เริ่มกับชาวโรมที่เคยให้ของขวัญแก่เพื่อนในวันขึ้นปีใหม่ (มักจะเป็นผลไม้ ขนม หรือทองคำ) ต่อมาชาวอังกฤษถือ "วันกลอง" (ในวันที่ 26 ธันวาคม) เป็นวันที่ศิษยาภิบาลเคยเปิด "กลองทาน" ในโบสถ์ และแจกเงินให้สมาชิกที่ยากจน ต่อมาชาว อังกฤษก็ให้ของขวัญแก่พวกคนใช้ และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในวันนั้นด้วย ในทวีปยุโรป เด็กๆ มัก จะเข้าใจว่า พระกุมารเยซูเป็นผู้นำของขวัญมาให้เขา (แท้จริงแล้วพ่อแม่เป็นผู้ที่ให้ต่างหาก) แต่เด็กที่สหรัฐอเมริกามักจะคิดว่า "ซานตาคลอส" เป็นผู้ให้ คืนก่อนวันคริสต์มาส หรือคริสต์มาสอีฟ จะมีงานแครอลลิ่ง ซึ่งจะมีเด็กๆ ไปร้องเพลงตามบ้าน ในคืนวันคริสต์มาส ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ จะมารวมตัวกันที่โบสถ์เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นการแสดง ร้องเพลง
เพลงคริสต์มาส เพลงวันคริสต์มาส
เพลงคริสต์มาส เริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 ซึ่งในสมัยนั้น มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเป็นผู้แต่ง ร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมา ของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีวิวัฒนาการใหม่ในด้านเพลงนี้ เริ่มในประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้มีส่วนในการสนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่ ซึ่งชาวบ้านชอบ คือมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดี ในโอกาสคริสต์มาสนี้ เพลงเหล่านี้เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ.1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาส ที่เรานิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวันเสีย ทำให้วงขับร้อง ไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ คุณพ่อเองตั้งใจ จะแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ หลังจากแต่งเสร็จ ก็เอาไปให้เพื่อนคนหนึ่งชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ ที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงใส่ทำนอง ในคืนวันที่ 24 นั้นเอง สัตบุรุษวัดนี้ ก็ได้ฟังเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก


เป็นยังไงค่ะ..ได้อ่านแล้ว คงทราบความหมายของคำว่า"คริสต์มาส" กันแล้ว